ครูเอื้อ สุนทรสนาน
ครูเอื้อ สุนทรสนาน (21 มกราคม 2453 - 1 เมษายน 2524) เป็นหนึ่งในศิลปินที่โด่งดังมากที่สุด แต่ส่วนมากจะรู้จักกันในชื่อ สุนทราภรณ์ ได้แต่งเพลงร่วมกับแก้ว อัจฉริยกุล และท่านอื่นๆ ไว้มากมายจนนับไม่ถ้วน ซึ่งคาดว่ามีมากกว่า 1,000 เพลง มีเพลงที่เป็นที่รู้จักกัน เช่น เพลงวันลอยกระทง เพลงวันสงกรานต์ เพลงนางฟ้าจำแลง เป็นต้น นอกจากนั้นยังถือได้ว่าท่านเป็นหนึ่งในท่านที่บุกเบิกเพลงไทยสากล
เมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2550 กระทรวงวัฒนธรรมได้เตรียมที่จะเสนอ ครูเอื้อ สุนทรสนาน ต่อองค์การยูเนสโกในวาระครบรอบ 100 ปีครูเอื้อ เพื่อให้เป็นบุคคลดีเด่นของโลกอีกด้วย
ตลอดระยะเวลา 42 ปีของการทำงาน ครูเอื้อไม่เคยพักผ่อนเลย ปกติครูเอื้อเป็นผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง ทำงานหนัก และอดนอนเก่ง จนกระทั่งถึงปลายปี พ.ศ. 2521 ก็เริ่มมีอาการไข้สูงเป็นระยะๆ แพทย์ได้เอกซเรย์ตรวจพบก้อนเนื้อร้ายขนาดเท่าลูกเทนนิสที่บริเวณปอดด้านขวา จึงได้เริ่มการรักษา แต่ก็ยังคงทำงานตามปกติ จนถึงปลายปี พ.ศ. 2522 มีอาการทรุดหนัก จึงเข้าไปรักษาที่โรงพยาบาล แล้วก็กลับไปรักษาที่บ้านต่อ
ระหว่างที่ป่วยอยู่นั้น คุณเอื้อได้รับพระราชทานดอกไม้เยี่ยมถึง 2 ครั้ง นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้
ในช่วงปี พ.ศ. 2523 คูรเอื้อได้เดินทางพร้อมกับนายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการสมาคมดนตรีแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ไปเข้าเฝ้า ณ พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ จังหวัดสกลนคร และได้ขับร้องเพลงถวายเป็นครั้งสุดท้าย เพลงที่ร้องถวายคือ เพลงพรานทะเล
ตั้งแต่เดือน ธันวาคม พ.ศ. 2523 เป็นต้นมา อาการของครูเอื้อก็ได้ทรุดลงเป็นลำดับ จนเมื่อถึงวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2524 ท่านก็ได้เสียชีวิตลง รวมอายุได้ 71 ปี 2 เดือน 11 วัน
ครูเอื้อ สุนทรสนาน เป็นผู้หนึ่งที่ได้รับพระราชทานโล่เกียรติยศในฐานะศิลปินตัวอย่างผู้ประพันธ์เพลง ประจำปี พ.ศ. 2523-2524 แผ่นเสียงทองคำพระราชทาน ครั้งที่ 4 โดยมี คุณอดิพร เสนะวงศ์ (สุนทรสนาน) บุตรีเป็นผู้รับแทน
หัวข้อ
การทำงาน ครูเอื้อ สุนทรสนาน
ครูเอื้อได้นำวงดนตรีไปแสดงที่โรงภาพยนตร์โอเดียน เมื่อปี พ.ศ. 2482 โดยทางโรงแรมรัตนโกสินทร์เป็นผู้จัด คุณสุรัฐ พุกกะเวส ซึ่งเป็นเลขานุการของโรงแรมเห็นว่าเป็นการไม่เหมาะสมที่จะนำวงดนตรีของราชการไปบรรเลงในโรงภาพยนตร์เอกชน จึงหารือกับคุณเอื้อว่าควรจะใช้ชื่อวงดนตรีเป็นอย่างอื่น ในตอนนั้นคูรเอื้อตกหลุมรักคุณอาภรณ์ จึงได้จังหวะนำนามสกุลของตนเองไปรวมกับชื่อของคนรัก ซึ่งรวมกันแล้วก็ได้ชื่อวงว่า สุนทราภรณ์
ครูเอื้อรับราชการในกรมโฆษณาการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2482 จนต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น กรมประชาสัมพันธ์ โดยดำเนินตำแหน่งเป็นหัวหน้าแผนกบันเทิงต่างประเทศแต่เพียงตำแหน่งเดียวจนกระทั่งเกษียณในปี พ.ศ. 2514 และทางกรมประชาสัมพันธ์ได้จ้างพิเศษให้ดำเนินตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญการดนตรีต่ออีก 2 ปี จนออกจากงานในปี พ.ศ. 2516 และในปีนี้ คุณเอื้อเป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับพระราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นสมาชิกคนหนึ่งใน สมัชชาแห่งชาติ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2516
ถึงแม้ครูเอื้อจะไม่ได้รับความก้าวหน้าในวงราชการเท่าที่ควร แต่ครูเอื้อมีสิ่งสูงสุดที่บำรุงจิตใจอยู่ตลอดมาคือ พระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ วันที่ครูเอื้อปลาบปลื้มที่สุดวันหนึ่งในชีวิตนักดนตรีก็คือ วันที่ได้รับพระราชทานเหรียญรูปเสมาทองคำที่มีพระปรมาภิไธยย่อ ภ.ป.ร. จากพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันครบรอบ 30 ปี วงดนตรีสุนทราภรณ์ ในวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2512
วงดนตรีสุนทราภรณ์
วงดนตรีสุนทราภรณ์ เป็นการนำชื่อมาจากนามสกุล ของเอื้อ สุนทรสนาน ผสมกับชื่อของคนรักของเอื้อ คือ คุณอาภรณ์ (สุนทรสนาน)
แดน บีช บรัดเลย์
มิชชันนารีอเมริกันนาม แดน บีช บรัดเลย์ และภรรยา ได้มาถึงบางกอกเมื่อเวลาสามทุ่ม หลังจากเดินทางโดยเรือใบจากสหรัฐอเมริกา รอนแรมข้ามน้ำข้ามทะเลมาเป็นเวลานาน
๑๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๓๗๘ วันที่มาถึง ตรงกับวันเกิดปีที่ ๓๑ ของเขาพอดี
พระนครในความมืดที่ปรากฏอยู่ตรงหน้า คือจุดหมายปลายทางที่มิชชันนารีอเมริกันผู้นี้ปรารถนาจะนำคำสอนและพระกิตติคุณของพระผู้เป็นเจ้ามาเผยแผ่ หากตลอดเวลา ๓๘ ปีที่ใช้ชีวิตอยู่ในสยาม งานเผยแผ่ศาสนาซึ่งเป็นภารกิจหลักของเขา กล่าวได้ว่าไม่บังเกิดผล แต่การริเริ่มกิจการอื่น ๆ กลับมีบทบาทและมีอิทธิพลต่อสังคมสยามอย่างมหาศาล
ไม่ว่าจะเป็นการนำการแพทย์สมัยใหม่มาสู่สยาม คือการผ่าตัดและการปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษ การถอนฟัน การรักษาต้อกระจก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพิมพ์ซึ่งทำให้ความรู้เผยแพร่ไปในวงกว้างอย่างรวดเร็ว หมอบรัดเลย์พิมพ์ บางกอกรีคอเดอ ซึ่งถือเป็นหนังสือพิมพ์ฉบับแรกของไทย พิมพ์หนังสือทางการแพทย์ หนังสือราชการ ประวัติศาสตร์ กฎหมาย ตลอดจนวรรณกรรม เช่น สามก๊ก โดยเฉพาะ นิราษเมืองลอนดอน นั้น ถือเป็นครั้งแรกที่มีการซื้อขายลิขสิทธิ์วรรณกรรมไทย
หมอบรัดเลย์เสียชีวิตด้วยโรคไทฟอยด์เมื่ออายุได้ ๖๙ ปี ร่างของเขาฝังอยู่ที่สุสานโปรเตสแตนต์ ยานนาวา ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำที่พาชายผู้หนึ่งมาขึ้นฝั่งบางกอก และดำเนินชีวิตอยู่ต่อมาโดยพานพบทั้งความสำเร็จและความล้มเหลว
ในประวัติศาสตร์ไทย แดน บีช บรัดเลย์ เป็นมิชชันนารีอเมริกันที่มีชื่อเสียง เพราะได้สร้างคุณูปการใหญ่ยิ่งแก่สังคมไทย เป็นที่จดจำเล่าขานแม้เวลาจะผ่านพ้นมาเนิ่นนานแล้วก็ตาม...
ถิ่นกำเนิด
คนไทยกับคนอเมริกันได้พบเห็นหน้าอย่างเป็นทางการครั้งแรกเมื่อในรัชกาลที่ ๓ ในครั้งนั้นประธานาธิบดีแย็กสัน (Andrew Jackson) ได้แต่งตั้งให้เอมินราบัดหรือ เอดมันด์ รอเบิต (Edmond Roberts) เป็นทูตขี่เรือกำปั่นเข้ามาทำหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีและการค้าขายเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๕ (ภายหลังประเทศอังกฤษ) และต่อจากนั้น ๓ ปี หมอบรัดเลย์ก็นั่งเรือใบเข้ามา
หมอบรัดเลย์เป็นคนเมืองมาร์เซลลุส (Marcellus) ในมลรัฐนิวยอร์ก เป็นเมืองที่บิดามารดามาตั้งครอบครัวอยู่หลังจากอพยพมาจากนิวฮาเวน (New Haven) บิดาชื่อ แดน บรัดเลย์ มีอาชีพเป็นศาสนาจารย์, เกษตรกร, ผู้พิพากษา และบรรณาธิการวารสารทางเกษตรกรรม มารดาชื่อ ยูนิซ บีช บรัดเลย์ (Eunice Beach Bradley) เมื่อนางให้กำเนิดหมอบรัดเลย์เมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๓๔๗ แล้ว นางก็สิ้นชีวิตในวันต่อมา หมอบรัดเลย์เป็นบุตรคนที่ ๕ ชื่อแรกมาจากชื่อของบิดาคือ แดน และชื่อกลางมาจากชื่อสกุลมารดาคือ บีช รวมเป็น แดน บีช บรัดเลย์
ต่อมาบิดาของท่านได้แต่งงานใหม่เมื่อ พ.ศ. ๒๓๔๘ ท่านจึงได้รับการเลี้ยงดูจากมารดาเลี้ยง และมีน้องที่เกิดจากแม่คนใหม่อีก ๕ คน แม้กระนั้นก็ได้ให้ความรักความเมตตาแก่ท่านเป็นอย่างดี ทำให้ไม่รู้สึกว้าเหว่แต่อย่างใด
ท่านเป็นคนชอบอ่านหนังสือมาตั้งแต่เป็นเด็ก จึงอาจเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ท่านสนใจในการพิมพ์หนังสือในสมัยต่อมา และอยากให้คนไทยอ่านหนังสือกันมาก ๆ
เผอิญสิ่งแวดล้อมในอเมริกาครั้งนั้นเป็นผลดีแก่เมืองไทย ที่จะได้คนดีอย่างหมอบรัดเลย์เข้ามา คือในสมัยนั้นทางฝ่ายเผยแผ่ศาสนาคริสต์มีความต้องการมิชชันนารีที่เป็นแพทย์จำนวนมาก หมอบรัดเลย์จึงได้ตัดสินใจเข้าศึกษาวิชาแพทย์แทนที่จะทำงานทางศาสนา และเนื่องจากขณะนั้นสุขภาพไม่ค่อยดี ในระยะแรกท่านจึงศึกษากับนายแพทย์โอลิเวอร์ (Dr. A.F. Oliver) ที่เมือง Penn Yan แบบตามสบายเพื่อรอให้สุขภาพดีขึ้น
เมื่ออยู่ในวัยรุ่น ท่านมีข้อบกพร่องอยู่อย่างหนึ่งคือพูดติดอ่าง ซึ่งเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งในการเผยแผ่ศาสนาที่จะต้องพูดหรือบรรยายธรรม ฉะนั้นท่านจึงต้องรีบแก้ไขโดยการเข้ากลุ่มฝึกพูด ซึ่งก็เป็นผลดี
ในหนังสือ ๕๐ ปีโรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน นายแพทย์คทาวุธ โลกาพัฒนา ได้กล่าวถึงการเรียนวิชาแพทย์ของหมอบรัดเลย์ไว้ตอนหนึ่งว่า
"การศึกษาวิชาแพทย์ในสมัยนั้นเป็นการศึกษาแบบปฏิบัติกับแพทย์ที่ปฏิบัติงานอยู่ จนกระทั่งมีประสบการณ์เพียงพอจึงจะสอบเพื่อรับปริญญา ท่านเคยไปฟังบรรยายทางการแพทย์ที่ Harvard ในปี ค.ศ. ๑๘๓๐ และกลับไปฝึกปฏิบัติงานการแพทย์สลับกับการเป็นครูในหมู่บ้าน เมื่อสะสมเงินได้เพียงพอ จึงไปที่โรงเรียนแพทย์ในกรุงนิวยอร์กเพื่อเรียนและสอบได้ปริญญาแพทย์ในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๘๓๓ ระหว่างอยู่ในนิวยอร์กยังได้ปฏิบัติงานหาความชำนาญ และระหว่าง ๒ ปีนั้นอหิวาตกโรคกำลังระบาดอยู่ในนิวยอร์ก โดยระบาดมาจากเมืองควิเบก ขณะศึกษาอยู่ในนิวยอร์กได้สมัครเป็นแพทย์มิชชันนารีกับ ABCFM (American Board of Commissioners of Foreign Missions) เพื่อทำงานในอาเซีย
ที่นิวยอร์ก หมอบรัดเลย์ได้รู้จักกับบุคคลสองคนซึ่งมีผลต่อการดำเนินชีวิตในระยะต่อมา คนแรกคือ Charles Grandison Finney ซึ่งเป็นนักเทศน์และอาจารย์จาก Oberlin College มีความเชื่อว่า มนุษย์ควรจะดำรงชีวิตโดยไม่มีบาป คือดำรงชีวิตของตนเช่นเดียวกับพระคริสตเจ้า ความเชื่อนี้มีผลต่อการปฏิบัติงานของหมอบรัดเลย์ในเมืองไทย คนที่สองคือ Reverend Charles Eddy แห่งคณะ ABCFM ซึ่งแนะนำว่าการทำงานมิชชันนารีในต่างแดนควรจะมีผู้ช่วย"
ในที่สุดหมอบรัดเลย์ได้เข้าศึกษาที่ College of Physicians ที่เมืองนิวยอร์ก และได้รับปริญญา Doctor of Medicine เมื่อเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๘๓๓ (พ.ศ. ๒๓๗๖) พร้อมที่จะเป็นมิชชันนารีต่อไป
วันพฤหัสบดีที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)